มฟล. เมื่อ 19 ปี วันพุธที่ 18 และวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดพิธีอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2547 ให้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ประติมากร คือ พันโทนภดล สุวรรณสมบัติ เป็นผู้ออกแบบและจัดปั้นพระรูปต้นแบบ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้เสด็จฯ ทอดพระเนตรพระรูปต้นแบบ ณ บ้านช่างปั้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เพื่อมีพระราชวินิจฉัยให้ประติมากร นำไปปรับปรุงให้สมพระเกียรติมากที่สุด
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระรูป ณ มณฑลพิธี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เวลา 16.15 น. และพระรูปต้นแบบได้ถูกนำไปหล่อด้วยโลหะซิลิก้าบรอนซ์ ที่โรงหล่ออำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
เมื่อการหล่อพระรูปเสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้มีการอัญเชิญจากจังหวัดอ่างทองมาถึงจังหวัดเชียงรายในวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดขบวนอัญเชิญมาที่มหาวิทยาลัยในวันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และจัดพิธีประดิษฐานในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
สำหรับวันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 นั้น พิธีอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเริ่มขึ้น ตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยตั้งต้นขบวนที่บริเวณห้าแยกอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช สิ้นสุดที่สี่แยกประตูเชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมในขบวนมีทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงาน และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในระหว่างทางที่ขบวนเคลื่อนมายังมหาวิทยาลัย มีการหยุดให้ประชาชนได้ร่วมสักการะอย่างทั่วถึง ขบวนอัญเชิญพระรูปเคลื่อนเข้าสู่ลานพระราชานุสาวรีย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดพิธีประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยมีพิธีสงฆ์อย่างครบถ้วน ทั้งนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงาน และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงรวมทั้งประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีด้วย
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
มหาวิทยาลัยได้กำหนดรูปแบบของพระราชานุสาวรีย์ฯ ว่าควรให้มีความสอดคล้องกับคำว่า “แม่ฟ้าหลวง” ที่บ่งบอกถึงความหมายว่าทรงใกล้ชิดกับพสกนิกร โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล นั่นคืออยู่ในอิริยาบถที่ทรงประทับนั่ง เสมือนหนึ่งกำลังมีพระราชดำรัสกับราษฎรในลักษณะที่เป็นกันเอง ฉลองพระองค์ที่สวมใส่ให้เป็นแบบไม่เป็นทางการ ในชุดที่สอดคล้องกับการออกเยี่ยมเยียนราษฎร และที่สำคัญให้มีพระวรกายที่สมบูรณ์พอควร กับให้มีขนาดสองเท่าพระองค์จริง และได้มอบหมายให้ประติมากร คือ พันโทนภดล สุวรรณสมบัติ เป็นผู้ออกแบบและจัดปั้นพระรูปต้นแบบ ซึ่งในการออกแบบนั้นได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ในหลายลักษณะมาผสมผสานกัน จนเป็นรูปแบบที่พอใจและตรงตามวัตถุประสงค์ จึงได้ดำเนินการขึ้นรูปและปั้นพระรูปต้นแบบจนสำเร็จ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
หลังจากการปั้นพระรูปต้นแบบเสร็จแล้ว เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์สูงสุด มหาวิทยาลัยได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้เสด็จทอดพระเนตรพระรูปต้นแบบ ณ บ้านช่างปั้น เลขที่ 35/37 ถนนพุทธมณฑลสาย 1 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เพื่อมีพระราชวินิจฉัยให้ พันโทนภดล สุวรรณสมบัติ ประติมากร นำไปปรับปรุงให้สมพระเกียรติมากที่สุด ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีพระราชดำรัสว่า “สวยงามและเหมือนองค์จริงมาก” อันนำความปลาบปลื้มมาสู่คณะผู้บริหาร และประติมากรเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระรูป ณ มณฑลพิธี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เวลา 16.15 น.
พระรูปต้นแบบได้ถูกนำไปหล่อด้วยโลหะซิลิก้าบรอนซ์ ที่โรงหล่ออำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง โดยกำหนดไว้ว่าโลหะที่ใช้หล่อนี้ เมื่อได้มีการประดิษฐานไประยะหนึ่งแล้ว จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว คล้ายกับอนุสาวรีย์ในยุโรป หลังจากการหล่อเสร็จสมบูรณ์ ได้มีการอัญเชิญพระราชานุสาวรีย์จากจังหวัดอ่างทอง มาที่จังหวัดเชียงรายในวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดขบวนอัญเชิญมาที่มหาวิทยาลัยในวันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และจัดพิธีประดิษฐานอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยได้ประดิษฐานบนฐานที่ตั้งที่บริเวณติดกับลานดาว ระหว่างอาคาร E1 และ E2 ฐานที่ตั้งพระราชานุสาวรีย์และบริเวณโดยรอบได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ฐานด้านหน้าประดับตราสัญลักษณ์ “สว” ด้านหลังจารึกพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เวลา 17.00 น. และจากนั้น ในวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดให้มีพิธีชัยมังคลาภิเษก พระราชานุสาวรีย์ ตามรูปแบบประเพณีของล้านนาโดยครบถ้วน.
ขอบคุณภาพ : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง