ชาวประมงเชียงของ ออกจับปลาในแม่น้ำโขง จับ “กระเบนแม่น้ำโขง” ได้ น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัม ถือว่าเป็นปลาหายาก
วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวประมงแม่น้ำโขง ชาวบ้าน บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ว่า ได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขง หรือ กระเบนลาว ขนาด 1.2 กิโลกรัม จากการไหลมอง หรือไหลตาข่ายดักปลาในแม่น้ำโขง
นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่จับได้ว่า จับได้ที่ลั้งหาปลาบ้านดอนที่ โดยการไหลมอง หรือตาข่ายที่ไหลดักปลา โดยเป็นปลาเพศมีย มีเงี่ยงหนึ่งอัน ซึ่งช่วงนี้การจับปลาในแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ จะจับได้จากการไหลมองเท่านั้น ส่วนเบ็ดระแวงไม่ได้ปลา เนื่องจากไกกำลังหลุดจากหินในแม่น้ำโขง และชอบติดสายเบ็ด
ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
ปัจจุบันปลากระเบนเป็นปลาหายาก ที่ยังมีการจับได้เฉพาะพื้นที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนพื้นที่อื่นๆมีการจับนานๆ ได้ที การลดลงของปลากระเบน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ชาวประมงบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกันศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป.