14 กันยายน, 2024
แชร์ข่าว

บอร์ดบริหาร กฟก. ลงพื้นที่ศึกษา “ลานนาบีฟโมเดล” ความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อ.พาน จ.เชียงราย

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายสุรชัย เบ้าจรรยา ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมด้วยบอร์ดบริหาร ได้นำเจ้าหน้าที่ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ไปศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้การผลิตโคเนื้อคุณภาพ เรียนรู้การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร สู่ทิศทางการเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการโคเนื้ออย่างมีคุณภาพ กับทิศทางการส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในอนาคต ภายใต้บริบท “ลานนาบีฟโมเดล ความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร”  ที่คอกกลางเครือข่ายโคเนื้อล้านนา อ.พาน จ.เชียงราย  โดยมี นายนเรศ รัศมีจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ กรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร และรองประธานคณะทำงานฯ ภูมิภาคที่ 1 (ภาคเหนือ) เป็นผู้นำชมและบรรยายการดำเนินการของเครือข่ายที่ผ่านมา

รวมไปถึงการเตรียมนำโมเดลนี้ เข้าสู่การส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้ยื่นโครงการเข้ามาเพื่อขอกู้ยืมเงินทุนไปประกอบอาชีพการเลี้ยงโค ให้มีความสำเร็จสามารถต่อยอด การขยายการดำเนินกิจการของกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินการโครงการเลี้ยงวัว มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงแก่ชีวิต 

หลังจากนั้นคณะได้ไปดูงานของกลุ่มเกษตรบ้านเด่นพัฒนา หมู่ 5 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งได้ดำเนินการและดูแลโครงการโดยนายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้า กฟก.เชียงราย เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ขององค์กรเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนงบกู้ยืมจาก สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2567 โครงการเลี้ยงโค วงเงินกู้ยืม 1,316,620 บาท

นายสุรชัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ของเครือข่ายโคเนื้อล้านนา ทำให้เห็นถึงการพัฒนาวงการเลี้ยงโคขุนของเกษตรกรไทย ที่มีการพัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะวิธีการพัฒนาโคสายพันธุ์บีฟ มาสเตอร์ ที่นำมาเลี้ยงได้ดีในเมืองไทย อัตราการเติบโตหรือให้น้ำหนักเนื้อสูง เลี้ยงง่าย สามารถนำโมเดลนี้ ไปส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ยื่นโครงการมาของบกู้ยืมนำไปใช้ได้เลย ซึ่งผลความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว 

ดังนั้นในฐานะฝ่ายบริหารจึงขอส่งเสริมแนวคิดนี้ เพื่อเป็นการทำให้พี่น้องเกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาหนี้สินวนเวียน สามารถสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีความสุขความสบาย และตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ต้องดูแลจัดการหนี้สินและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรนั้นเอง.


แชร์ข่าว