โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร พร้อมให้บริการประชาชนในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง
วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ คณะสมาชิกวุฒิสภาในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร (Center Of Therapeutic Radiology and Oncology) โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา ได้สวดอนุโมทนา พร้อมเจิมป้าย และประพรมน้ำพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวรายงาน ทั้งนี้แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร เข้าร่วมพิธี
ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 758 เตียง รับผิดชอบประชากรผู้ป่วยโรคมะเร็งจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย จากฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็งของโรงพยาบาลเชียงรายฯ พบว่ามะเร็งที่พบบ่อยในประชากรเพศชาย สามอันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และมะเร็งปอด ซึ่งในเพศหญิงสามอันดับแรก ได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของจังหวัดเชียงราย อันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ โดยจากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา จะมีประมาณ 2,400ราย/ปี โดยมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสีประมาณ 1,200 ราย/ปี และกล่าวต่อไปว่า
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด แต่ยังขาดการรักษาด้วยรังสีรักษา ซึ่งเป็นการรักษาที่สามารถลดการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการของโรคในระยะแพร่กระจายได้ โดยผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยรังสีรักษา จำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นส่วนใหญ่ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงโรงพยาบาลมะเร็งลำป่าง มีประมาณ 900 ราย/ปี ผู้ป่วยหายจากระบบประมาณ 300 ราย ที่ไม่เดินทางไปรับการรักษา เพราะผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจังหวัดลำปาง เพื่อเข้ารับการรักษาเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ประมาณ 15,000 บาทต่อราย
ซึ่งการจัดตั้งศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ณ อาคารรังสีรักษาแห่งนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วนและสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถรับการรักษาได้ตามแผนการรักษา ส่งผลให้มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งด้านรังสีรักษา พัฒนาบุคลากรรองรับบริการด้านรังสีรักษา และพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานบริการในเครือข่าย เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยและการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อคุณภาพบริการแบบครบวงจร และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวเชียงราย
ด้าน พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่จังหวัดเชียงรายมีศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ขอชื่นชมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่ได้มีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครอบคลุมทั้งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษา และบริการรังสีรักษาตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายจังหวัดเชียงราย-พะเยา ให้เข้มแข็ง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นให้เกิดปรโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน พร้อมกล่าวต่อไปว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องความสำคัญ ทั้งในด้านการป้องกัน และดูแล รักษา การเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จะสามารถเข้าถึงการรักษา ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางเพื่อไปรักษา อีกทั้งยังได้รับการรักษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เครื่องมือที่มีมาตรฐานเป็นการดูแลแบบครบวงจรอีกด้วย
ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระราชูปถัมภ์ ได้มอบเครื่องอุปโภค ของใช้จำเป็นให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อมอบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการรับการรักษาต่อไป.