ด้วยสถานการณ์น้ำกกตลิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เข้าสู่ภาวะวิกฤตตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2567 เป็นต้นมา ระดับน้ำกกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครนครเชียงราย ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและบรรเทาเหตุอุทกภัย และดินโคลนถล่ม เทศบาลนครเชียงราย ขึ้น ในการทำอาหาร-น้ำดื่ม เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัย ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ณ วันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 21.00 น. ดังนี้
1.สถานการณ์สาธารณภัย ฝนตกหนักสะสมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 67 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม โดยส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 9 – 12 ก.ย. 2567 (ภัยต่อเนื่อง)
2. สถานที่เกิดเหตุ/ความเสียหาย
– ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 11 – 12 ก.ย. 2567 รวมทั้งสิ้น 4 เขต 52 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 8,739 ครัวเรือน 28,017 คน รายงานเบื้องต้นไม่มีผู้เสียชีวิต
(2.1) ชุมชนที่มีน้ำท่วมระดับน้ำสูงและเชี่ยวมาก(สีแดง) รถสูงขนาดใหญ่และเรือเข้าถึงพื้นที่ได้บางจุด – ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เลย /รับแจ้งประชาชนติดค้างต้องการอพยพจำนวนมาก ขาดแคลนน้ำและอาหาร จำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนป่าแดง, ชุมชนน้ำลัด, ชุมชนเกาะลอย, ชุมชนฝั่งหมิ่น, ชุมชนร่องเสือเต้น, ชุมชนเกาะทอง ,ชุมชนบ้านใหม่,ชุมชนแควหวาย,ชุมชนกกโท้ง , ชุมชนทวีรัตน์
(2.2) ชุมชนที่มีน้ำท่วมระดับน้ำสูงมาก (สีส้ม) รับแจ้งประชาชนติดค้างต้องการอพยพจำนวนมาก ขาดแคลนน้ำและอาหาร จำนวน 8 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนฮ่องลี่, ชุมชนบ้านไร่, ชุมชนร่องปลาค้าว, ชุมชนเทิดพระเกียรติ, ชุมชนกองยาว, ชุมชนสันตาลเหลือง, ชุมชนรั้วเหล็กเหนือ, ชุมชนรั้วเหล็กใต้
(2.3) รวมชุมชนที่ประสบเหตุอุทกภัย ทั้งหมด จำนวน 52 ชุมชน
3. แจ้งปิดใช้สะพานเนื่องจากน้ำท่วมสูง จำนวน 6 จุด ได้แก่
– สะพานแม่ฟ้าหลวง (ศาลากลางจังหวัดเชียงราย)
– สะพานขัวพญาเม็งราย (แยกบ้านใหม่ถึงแยกสถานีตำรวจภูธรเชียงราย)
– สะพานข้ามแม่น้ำกก (แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1 ถึง 5 แยกพ่อขุนเม็งราย)
– สะพานเฉลิมพระเกียรติ (เส้นทางสนามกีฬากลาง โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย)
– สะพานข้ามแม่น้ำกกเก่า (ใกล้กับศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนน้ำลัด)
– สะพานข้ามแม่น้ำกก น้ำลัด – เมืองมาง
4. โรงเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงรายประกาศหยุดเรียนจนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
5. การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย หยุดระบบการผลิตและระบบจ่ายน้ำ (วันที่ 11 กันยายน 2567 เวลา 15.59 น.) พื้นที่ทั้งหมดในเทศบาลนครเชียงราย ได้รับผลกระทบเต็มพื้นที่
6. การให้ความช่วยเหลือ ประจำวันที่ 12 ก.ย. 2567 ดังนี้
(6.1) ช่วยอพยพประชาชนที่ประสบภัย ออกจากจุดเกิดเหตุภัยพิบัติมายังจุดที่ปลอดภัย
(6.2) นำอาหาร เครื่องดื่ม ถุงยังชีพ เสื้อผ้า และยารักษาโรค ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนยังจุดที่เกิดเหตุภัยพิบัติ และศูนย์พักพิง
7. เทศบาลนครเชียงราย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทน.เชียงราย จำนวน 1 จุด คือ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและบรรเทาเหตุอุทกภัย และดินโคลนถล่ม เทศบาลนครเชียงราย ณ สถานีดับเพลิงและกู้ภัย เทศบาลนครเชียงราย
8. ศูนย์พักพิง (รองรับผู้ประสบภัย) ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีรายละเอียดดังนี้
1 ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนน้ำลัด ชุมชนน้ำลัด เขต 1 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 200 (ไม่มีผู้อพยพ)
2 ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนสันหนอง ชุมชนสันหนอง เขต 3 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 200 คน
3 โรงเรียนเทศบาล 3 (ศรีทรายมูล) ชุมชนศรีทรายมูล เขต 3 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 200 คน
4 โรงเรียนเทศบาล 8 (บ้านใหม่) ชุมชนบ้านใหม่ เขต 2 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 400 คน
5 โรงเรียนองค์การส่วนบริหารจังหวัดเชียงราย เขต 2 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 200 คน
6 วัดสันป่าก่อไทยใหญ่ ชุมชนสันป่าก่อไทยใหญ่ เขต 4 สามารถรองรับผู้อพยพได้ 200 คน
7.โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย (ฝั่งม.ต้น) สามารถรองรับผู้อพยพได้ 100 คน
9. สถานการณ์อยู่ในระดับเฝ้าระวัง เรดาร์ตรวจอากาศพบฝนอ่อนบางพื้นที่ ระดับน้ำสาย/ระดับน้ำกก ลดลง สถานการณ์น้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้น