15 พฤศจิกายน, 2024
collage

ประเทศไทยเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากมายมหาศาล ทั้งในด้านศิลปะ อาหาร ดนตรี ภาษา วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งถือต้นทุนที่สำคัญต่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ  โดยการใช้องค์ความรู้ งานวิจัยและกระบวนการที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์และสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาธุรกิจ บริการและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ สร้างคุณค่าให้ Soft Power ของไทย พัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่คนในประเทศ 

โครงการการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเทศกาลศิลปะระดับโลกที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้น ภายใต้ชื่อ “ไทยแลนด์เบียนนาเล่” (Thailand Biennale) ซึ่งจุดเด่นของ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ คือ การเปลี่ยนจังหวัดเจ้าภาพในการจัดแสดงนิทรรศการในแต่ละครั้ง โดยพิจารณาจากจังหวัดนำร่องในโครงการเมืองศิลปะ ของกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดเชียงราย 

ครั้งที่ 1 : Thailand Biennale, Krabi 2018  ณ จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้แนวคิด : สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ (Edge of the wonderland) โดยได้รับเกียรติจาก Mr. โจ ชัว เจียง เจฮง ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นำคณะภัณฑารักษ์ ศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 50 คน จัดแสดงผลงานในจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ในเมืองจนถึงชายหาด ท่ามกลางทะเล ในถ้ำ บนเกาะ  และอุทยานแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2.6 ล้านคน สร้างรายได้ไปกว่า 864 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 3,300 อัตราและมีรายรับภาษี 323 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 : Thailand Biennale, Korat 2021 ณ จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ภายใต้แนวคิด : Butterflies Frolicking on the Mud: Engendering Sensible Capital หรือในชื่อภาษาไทย “เซิ้งสิน…ถิ่นย่าโม” ได้รับเกียรติจาก ยูโกะ ฮาเซกาวา ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ ได้แก่ ธวัชชัย สมคง วิภาช ภูริชานนท์ และ เซฮา คูโรซาวา มีศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจาก 25 ประเทศ ร่วมสร้างสรรค์ผลงานจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 53 ชิ้น จัดแสดงพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย วัด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ และชุมชนท้องถิ่น มีผู้เข้าร่วมงาน 1.96 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3,051 ล้านบาท มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 200.7 ล้านบาท รายรับภาษี 30.5 ล้านบาท และอัตราการจ้างงาน 405 อัตรา

ครั้งที่ 3 : Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 -30 เมษายน 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมด้วย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  ศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้แทนจากสถานกงสุลในประเทศไทย ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ สล่าและปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลากหลายสาขา และอาสาสมัครนำชมผลงาน

ภายใต้แนวคิด : เปิดโลก (The Open World) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน  วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน โดยมี “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” ร่วมกับ “กฤติยา กาวีวงศ์” ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยทีมภัณฑารักษ์ ได้แก่อังกฤษ “อัจฉริยโสภณ” และ “มนุพร เหลืองอร่าม” ร่วมกันจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยและต่างชาติจากลุ่มน้ำโขงถึงแม่น้ำอะเมซอน จำนวน 60 คน จาก 21 ประเทศ ครอบคลุมจากทุกทวีป ประกอบด้วยศิลปินต่างประเทศ 38 คน และศิลปินไทย 22 คน แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

1.นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) จัดแสดงในเขตอำเภอเมือง อำเภอเชียงแสนและอำเภอแม่ลาว จัดแสดงภายในพื้นที่หอศิลป์ ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ วัด และโบราณสถาน ต่างๆ  

2.Pavilions หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่หลายอำเภอ

3. Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่นๆ และการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จนถึงธรรมชาติและนิเวศวิทยา รวมกว่า 150 กิจกรรม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสู่เด็ก เยาวชน นักศึกษา ศิลปิน และประชาชน ตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการจัดงาน

งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale จึงเป็นกลไกสำคัญประการในการขับเคลื่อนพลัง ซอฟพาวเวอร์ของศิลปิน และจังหวัดเชียงราย ในฐานะเจ้าบ้านให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวทีศิลปะโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ  โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมงานกว่า 2,790,964 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 20,654.19 ล้านบาท เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงการจัดงานทั้งในพื้นที่และสื่อสังคมออนไลน์ สูงกว่า 25,194,652 คน / view สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท  

โดยได้จัดให้มีพิธีมอบธงสัญลักษณ์โครงการการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale จากจังหวัดเชียงราย สู่จังหวัดภูเก็ต ดินแดนไข่มุกแห่งอันดามัน เพื่อรับเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 ในครั้งต่อไป.

ข้อมูลโดย : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

แชร์ข่าว